“ดำนอกสว่างใน” มันเป็นแบบนั้นจริงๆ หรือ? ภาค2

ตอน “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่าลงมือทำ”


เนื่องจากบทความ “ดำนอกสว่างใน” (ภาค 1) ได้รับการพูดถึง และตอบรับเป็นอย่างดี ผู้เขียนจึงใคร่ขออธิบายประเด็นต่างๆให้ชัดเจนมากขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงจึงเกิดเป็น “ดำนอกสว่างใน” ภาค 2 ขึ้น ในภาคแรกได้สรุปไว้ว่า ความน่าจะเป็นที่ “ดำนอกสว่างใน” จะเป็นจริงก็มีเพียง 50% เท่านั้นและไม่ขึ้นกับชนิดของฟิล์มติดรถยนต์แต่ขึ้นกับปริมาณของแสงสว่าง ณ เวลาและสถานที่นั้น เหตุผลเพราะเราสามารถ ทำให้เกิดกรณีตรงข้ามคือ “ไม่สว่างใน” ถ้าแสงนอกรถมีปริมาณน้อย หรือเกิดกรณี “ไม่ดำนอก” ถ้ามีการเปิดไฟในรถตอนกลางคืน และโอกาสเกิดกรณีตรงข้ามดังกล่าวมีเท่าๆกับโอกาส เกิดกรณี “ดำนอกสว่างใน” แบบเท่าๆกัน


ท่านทั้งหลายคงเคยได้เห็นการโฆษณาฟิล์มกรองแสงด้วยคำว่า “ดำนอกสว่างใน” พร้อมกับทำรีวิวด้วยภาพนิ่งหรือวิดีโอมาบ้างแล้ว และรีวิวเหล่านั้น ทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงคำว่า “สว่างใน” ได้อย่างจริงจังถึงแม้ว่าฟิล์มกรองแสงนั้นจะมีความเข้มสูงมาก ในขณะที่สภาพแสงภายนอกมีน้อยมากก็ตาม ผมจึงอยากให้ทุกท่านไตร่ตรองและเชื่ออย่าง มีเหตุผลเพราะหลักการถ่ายภาพหรือหลักการทำงานของกล้องมีปัจจัยต่างๆหลายข้อ ส่งผลต่อความสว่างและความชัดเจนของภาพ เช่น ขนาดของรูรับแสง ระยะเวลาของการเปิดชัตเตอร์ ขนาดของเซนเซอร์ภาพ และซอฟต์แวร์(Ai) ที่ช่วยปรับคุณภาพของภาพ เป็นต้น





ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำอย่างรวดเร็ว เพียงคุณใช้กล้องที่ติดมากับมือถือ กล้องก็สามารถมองเห็นวัตถุได้ดี กว่าดวงตาของเราอีกครับ ถ้าไม่เชื่อก็ลองทดสอบกล้องในมือของตนเองดูได้ครับเช่น ลองปรับให้เป็นโหมดกลางคืน หรือลองเล่นโหมดโปร ซึ่งเราสามารถเพิ่มขนาดรูรับแสง และเพิ่มเวลา การเปิดชัตเตอร์รับแสง เราก็จะได้รับแสงเข้าเซนเซอร์รับภาพมากขึ้น ภาพที่ได้ก็จะสว่างและชัดเจนขึ้น นอกจากนั้นซอฟต์แวร์ Ai ยังช่วยทำให้ภาพที่เบลอกลับมาชัดได้อีกด้วย และยิ่งไป กว่านั้นสภาพแสงในแต่ละพื้นที่ที่ทดสอบก็มีค่าไม่เท่ากัน หรือความเข้มของฟิล์มของรถแต่ละคันที่นำมาทดสอบมี %ค่าแสงผ่านหรือ %ความเข้มที่แท้จริงเท่าไรก็ไม่แน่ชัด รถบางคันบอกว่า ติดฟิล์มเข้ม 60% จริงๆอาจจะวัดได้ 80% (ถ้าผู้สร้างรีวิวต้องการให้ภาพดูดำเข้ม) หรือจริงๆอาจวัดได้ 40% (ถ้าผู้สร้างรีวิวต้องการให้ภาพออกมาดูว่าสว่างใส) แล้วอย่างนี้รีวิวที่ท่านดูอยู่จะ เชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน ถึงตอนนี้คงต้องเชื่อสุภาษิตไทยที่ว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น” และ “สิบตาเห็นไม่เท่าลงมือทำ” แล้วครับ ดังนั้นในบทความภาค 2 นี้ เราจะมาพิสูจน์คำว่า “ดำนอกสว่างใน” กันอีกครั้งให้เห็นชัดเจนด้วยฝีมือของตัวท่านเอง



มาทำความรู้จักกับพระเอกของเรา “ลักซ์มิเตอร์”


    ลักซ์มิเตอร์คือชื่อที่เรียกตามหน่วยของการวัดปริมาณแสง

    (1 ลักซ์ มีค่าเท่ากับ 1 ลูเมน/ตารางเมตร)



รูปตัวอย่าง Lux meter หรือ Light meter

พระเอกคนนี้จะช่วยทำให้เราทราบค่าตัวเลขที่บอกถึงความสว่างในแต่ละจุดที่เราสนใจเช่น ตำแหน่งนอกรถที่สภาวะแสงต่างๆ หรือตำแหน่งในรถที่สภาวะแสงต่างๆ หรือค่าความสว่างที่ตัวเราเองรู้สึกว่าเริ่มไม่ชัดเจน และที่สำคัญที่สุดคือพระเอกคนนี้อยู่ใกล้ตัวเราอยู่แล้วครับ ไม่ต้องไปหาไกลที่ไหนครับ เราสามารถใช้โทรศัพท์มือถือของเราเป็นทำเป็น Lux meter ได้ทันทีด้วยการลง App ในมือถือครับ Appที่ว่ามีหลายตัวให้เลือกทั้งค่าย Android และ iOS ลองค้นหาด้วยคำว่า Lux meter หรือคำว่า Light meter ก็ได้ครับ สำหรับผมเลือกใช้ตัวนี้ครับ ง่ายดี ไม่ซับซ้อน


ตัวอย่าง App Lux meter ในมือถือ Android

ทบทวนค่าความสว่าง สร้างความคุ้นเคย

ก่อนอื่นผมขอทบทวนค่าความสว่าง ณ สภาวะแสงต่างๆจากภาคที่แล้วให้ผู้อ่านได้ทราบอีกครั้งดังตารางนี้ และท่านสามารถทดลองวัดค่าความสว่างด้วยแอปนี้ในสภาวะต่างๆ ตามตารางเพื่อสร้างความคุ้นเคยในการใช้แอป และเรียนรู้ค่าความสว่างในพื้นที่ต่างๆ

ตารางความสว่างของพื้นที่ต่างๆ ในสภาวะต่างๆ

สภาวะของพื้นที่ต่างๆ ค่าความสว่าง (Lux)
กลางวัน แสงอาทิตย์ตอนแดดจัด 60,000 - 110,000
แสงแดดอ่อน 10,000 - 20,000
วันเมฆครึ้ม 1,000 - 2,000
วันฝนตกท้องฟ้ามืด 100 - 500
เย็นพลบค่ำ 10 - 50
กลางคืน หัวค่ำ 1 - 2
คืนพระจันทร์เต็มดวง 0.1
ไม่มีพระจันทร์ 0.001
แสงสว่างไฟถนน 10 - 22
ในอาคาร ห้องอ่านหนังสือ และออฟฟิศ 500 - 1.500
ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องอาหาร 150 - 300
ทางเดินในอาคาร 75 - 200

หาตำแหน่งเซนเซอร์ที่ใช้วัดแสง

อย่างไรก็ตามเราจำเป็นต้องตรวจดูว่าเซนเซอร์วัดแสงของมือถือของท่านว่าอยู่ตรงไหนเพื่อให้มั่นใจว่าเวลาใช้งาน แสงจะเข้ามาที่เซนเซอร์ ได้อย่างถูกต้องและไม่มีอะไรไปปิดบัง โดยทั่วไปเซนเซอร์วัดแสงของมือถือที่ทำงานร่วมกับแอปนี้มักจะอยู่ใกล้กับลำโพงที่เราใช้แนบหูเวลายกหูคุยโทรศัพท์อาจจะอยู่ด้านซ้ายหรือขวาของลำโพงก็ได้ เรา สามารถทดสอบหาตำแหน่งของเซนเซอร์วัดแสงได้ง่ายๆ ด้วยการใช้นิ้วบังที่ตำแหน่งเซนเซอร์ ถ้าบังถูกตำแหน่งค่าของความสว่างจะต้องลดลงเหลือศูนย์ดังรูป

ภาพตำแหน่ง Light Sensor


เซนเซอร์วัดแสงของมือถือแต่ละยี่ห้อหรือแต่ละรุ่นจะมีความไวแสงไม่เท่ากัน แต่ความแตกต่างในเรื่องนี้ไม่มีผลต่อการทดลองของเราเพราะเราใช้เครื่องมือวัดในเชิงเปรียบเทียบ (Comparative value) เป็นอัตราส่วน และเราไม่ได้วัดเป็นค่าเดี่ยว (Absolute value) ดังนั้นค่าความผิดพลาดของความสว่างที่วัดได้จึงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้

ถึงเวลา “ลงมือทำ” ด้วยตนเอง



การลงมือทำด้วยตัวของท่านเองในครั้งนี้ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ท่านรู้จักปริมาณของแสงหรือความสว่างซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เรามองเห็นวัตถุ และได้รู้จักวิธีวัดค่าความเข้มของฟิล์มด้วยตัวท่านเอง ท่านจะได้ทดลองวัดค่าแสงผ่านของกระจกติดฟิล์มของรถท่านและทำให้รู้ว่ากระจกติดฟิล์มของท่านกรองแสงหรือตัดแสงที่ช่วยในการมองเห็น (Visible Light) ออกไปกี่เปอร์เซนต์ เป็นการพิสูจน์ค่าความเข้มของฟิล์ม 60% หรือ 80% ของรถท่านที่ได้ยินมานั้นว่ามันถูกต้องและเป็นจริงหรือไม่ นอกจากนั้นท่านจะได้ทดลองวัดค่าความสว่างที่ทำให้เราเห็นวัตถุนอกรถในสภาวะแสง ต่างๆ (พิสูจน์คำว่า “สว่างใน”) และได้ทดลองวัดค่าความสว่างที่ทำให้เรามองไม่เห็นวัตถุในรถ(พิสูจน์คำว่า “ดำนอก”) เมื่อท่านผ่านการลงมือทดลองด้วยตัวท่านเองแล้ว ท่านจะเรียนรู้เองว่า “ดำนอกสว่างใน” มัน เป็นจริงได้กรณีใดบ้างแล้วพระเอก “ลักซ์มิเตอร์” จะช่วยเราได้อย่างไร? มาทดลองตามขั้นตอนนี้กันเลยครับ


1. ใช้พระเอกของเราวัดค่าแสงผ่านของกระจก+ฟิล์ม ของบานหน้า หรือบานข้าง หรือบานที่คุณสนใจ ด้วยวิธีการดังนี้

กรณีวัดบานหน้า

- วางมือถือที่เปิดแอปลักซ์มิเตอร์ไว้บนกระจกหน้าดังรูป แล้วบันทึกค่าความสว่างที่ได้ลงในตาราง

- เข้าไปในรถ วางมือถือในตำแหน่งที่ใกล้เคียงกับตำแหน่งที่วางนอกรถดังรูป แล้วบันทึกค่าความสว่างที่ได้

รูปขณะวัดค่าแสงก่อนผ่านฟิล์มบานหน้า

รูปขณะวัดค่าแสงหลังผ่านฟิล์มบานหน้า

กรณีวัดบานข้าง

- วางมือถือที่เปิดแอปลักซ์มิเตอร์ไว้บนกระจกข้างดังรูป แล้วบันทึกค่าความสว่างที่ได้ลงในตาราง

- เข้าไปในรถ วางมือถือในตำแหน่งที่ใกล้เคียงกับตำแหน่งที่วางนอกรถดังรูป แล้วบันทึกค่าความสว่างที่ได้

รูปขณะวัดค่าแสงก่อนผ่านฟิล์มบานข้าง

รูปขณะวัดค่าแสงหลังผ่านฟิล์มบานข้าง

2. คำนวณค่า%ความเข้มของแต่ละบาน แล้วบันทึกค่าลงในตาราง

บานหน้า บานข้าง (หน้า) บานข้าง (หลัง) บานหลัง
ความสว่าง (ลักซ์) นอกรถ 17,206 1,617 871 6,762
ความสว่าง (ลักซ์) ในรถ 5,059 223 140 1,004
%ค่าแสงผ่าน (VLT) 29.40 13.79 16.07 14.85
%ค่าความเข้ม 70.60 86.21 83.93 85.15

ตารางบันทึกค่าความสว่าง

*สูตรคำนวนหา %ค่าแสงผ่าน (VLT) = (ความสว่างในรถ / ความสว่างนอกรถ) * 100
*สูตรคำนวนหา %ค่าความเข้ม = 100 - %ค่าแสงผ่าน (VLT)


ข้อควรระวัง: ควรทดสอบในที่ที่มีความสว่างอย่างน้อย 100 lux เพื่อให้ค่าความผิดพลาดน้อยลง
- วิธีอ่านค่าควรกดปุ่ม Hold เพื่อบันทึกค่าไว้ก่อน แล้วจึงอ่านค่า โดยที่ขณะกดปุ่ม Hold ไม่ควรก้มมองที่มิเตอร์แบบใกล้มากเกินไปเพราะศีรษะของเราอาจจะบังแสงทำให้ปริมาณแสงลดลง
- ค่าความเข้มจะมีค่าตรงข้ามกับค่าแสงผ่าน ตัวอย่างเช่น ถ้าค่าแสงผ่านเท่ากับ 30% ค่าความเข้มจะเท่ากับ 70%

วัดความเข้มของฟิล์มด้วยแอปแม่นแค่ไหน?

จากตารางบันทึกค่าความสว่างที่ได้ เราจะรู้ความเข้มของฟิล์มของรถเราทุกบานแล้วครับ ซึ่งเป็นความเข้มของฟิล์มที่ รวมกระจกเรียบร้อยแล้ว และเพื่อตรวจสอบว่าค่าความเข้มที่วัดได้ด้วยแอปมือถือของเราแม่นยำแค่ไหน เราจึงนำเครื่องมือวัดค่าความเข้มของฟิล์มทำการวัดกระจกแต่ละบานแล้วนำมาเปรียบ เทียบกันดังตารางข้างล่าง

บานหน้า บานข้าง (หน้า) บานข้าง (หลัง) บานหลัง
วัดด้วยแอปมือถือ %ค่าแสงผ่าน (VLT) 29.40 13.79 16.07 14.85
%ค่าความเข้ม 70.60 86.21 83.93 85.15
วัดด้วยเครื่องวัดฟิล์ม %ค่าแสงผ่าน (VLT) 31 16 15 16
%ค่าความเข้ม 69 84 85 84

ตัวอย่างการบันทึกค่าความสว่าง



รูปขณะวัดค่าแสงผ่านฟิล์มบานหน้าและบานข้างด้วยเครื่องมือวัดฟิล์ม


จากค่าตัวอย่างที่วัดได้ในตารางเมื่อเทียบกับค่าแสงผ่านหรือค่าความเข้มที่วัดด้วยเครื่องมือวัด ฟิล์มจะเห็นว่ามีค่าใกล้เคียงกันผิดพลาดไม่เกิน 3% แสดงว่าเราสามารถวัดค่าความเข้มของฟิล์มของกระจกรถบานที่เราสงสัยได้อย่างแม่นยำพอสมควร

“สว่างในหรือไม่” ท่านจะเป็นผู้ตอบเอง


ถึงตอนนี้เราจะรู้แล้วว่ากระจกแต่ละบานของเราลดทอนแสงที่ใช้เพื่อการมองเห็น(Visible Light) ลงไปกี่เปอร์เซนต์ ทำให้เราสามารถพิจารณาด้วยตนเองได้แล้วว่าคำว่า “สว่างในเป็นจริงได้แค่ไหน” ในสภาวะที่แสงมีค่าแตกต่างกันออกไป บวกความสามารถของสายตาซึ่งแตกต่างกันในแต่ละคน วิธีการวัดค่าแสงของพื้นที่ต่างๆมีหลักการง่ายๆคือ เราต้องหันเซนเซอร์ไปในทิศทางเดียวกับทิศทางของสายตาที่มอง โดยคิดเสมือนว่าเซนเซอร์วัดแสงก็คือดวงตาของเรา เช่นถ้า เรามองไปที่วัตถุหน้ารถ เซนเซอร์จะต้องหันไปที่วัตถุชิ้นนั้น หรือถ้าเรามองผ่านกระจกมองข้างเพื่อมองขอบถนน เซนเซอร์จะต้องหันไปที่ขอบถนนเช่นเดียวกัน และควรปรับความ สว่างของหน้าจอมือถือให้ต่ำเพียงพอที่จะอ่านค่าได้เพื่อไม่ให้แสงของหน้าจอที่เพิ่มขึ้นอัตโนมัติเข้ามารบกวนเซนเซอร์วัดแสง

ตัวอย่างเช่นในกรณีกลางคืนบนถนนที่มีไฟ ปริมาณแสงสว่างอาจมีค่าเพียงแค่ 15 ลักซ์ และเมื่อแสงนี้ต้องเดินทางผ่านฟิล์มของเราและ ถูกลดทอนไปอีก 85% เหลือเพียง 15 % นั่นคือปริมาณแสงสว่างจะคงเหลือ = 15ลักซ์ x 15% = 2.25 ลักซ์ เดินทางผ่านกระจกรถเข้าสู่ดวงตาของเรา เราจะต้องตอบตัวเอง ว่าที่ความสว่าง 2.25 ลักซ์เรามองเห็นวัตถุนั้นชัดหรือไม่ ผมไม่อยากถ่ายรูปให้ดูว่าความสว่าง 2.25 ลักซ์ ภาพที่ได้จะเป็นอย่างไร เพราะความชัดเจนของภาพที่ได้มันเกิดจาก เซนเซอร์รับแสงของกล้องซึ่งไม่ใช่ดวงตาของเรา (ดังที่ได้อธิบายเรื่องหลักการถ่ายภาพไปแล้วตอนต้นบทความ) ผมจึงอยากให้ผู้อ่านได้ทดลองด้วยตนเอง ซึ่งผู้อ่านสามารถทด ลองวัดแสงของพื้นที่ต่างๆ เพิ่มเติมอย่างเช่นด้านหลังรถ ด้านข้างรถในที่ร่มเวลามองกระจกข้างขณะถอยจอด และตอบคำถามว่าเมื่อท่านมองผ่านฟิล์มของรถท่าน “มันจะสว่างใน จริงหรือไม่” โปรดตอบคำถามนี้ด้วยตนเอง ดังความตั้งใจที่ว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่าลงมือทำ”




เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์อมร ตันวรรณรักษ์