“ดำนอกสว่างใน” มันเป็นแบบนั้นจริงๆ หรือ?

    หมายเหตุ
  • บานหน้าใช้ฟิล์มเซรามิกความเข้ม 60 (ตามภาษาช่างติดฟิล์มทั่วไป) ที่รหัสฟิล์มจะเป็น XXX-15 ตัวเลขในรหัสฟิล์มหมายถึง %ค่าแสงผ่าน (VLT) และวัดความเข้มด้วยเครื่องมือวัดได้ = 85%

  • บานข้างและรอบคันใช้ฟิล์มเซรามิกความเข้ม 80 (ตามภาษาช่างติดฟิล์มทั่วไป) ที่รหัสฟิล์มจะเป็น XXX-10 ตัวเลขในรหัสฟิล์มหมายถึง %ค่าแสงผ่าน (VLT) และวัดความเข้มด้วยเครื่องมือวัดได้ = 91%

จากคำพูด(วลี)ที่คุ้นหูที่หลายคนเคยได้ยินเกี่ยวกับฟิล์มติดรถยนต์ที่ว่า “ดำนอกสว่างใน” ซึ่งหมายถึง การมองจากข้างนอกเข้ามาแล้วไม่เห็นข้างในตัวรถจะเห็นเพียงสีดำของฟิล์ม(ดำนอก) แต่เมื่อผู้โดยสารมองจากในตัวรถผ่านกระจกติดฟิล์มออกไปข้างนอก จะมองเห็นข้างนอกสว่างใสชัดเจน(สว่างใน) วิธีการนำเสนอแบบนี้เรามักจะพบเห็นได้บ่อยครั้งจากเซลส์ รวมทั้งทดสอบให้ดู ช่างอเมซิ่งจิงเกิลเบลอะไรเช่นนี้


แต่ว่ามันเป็นแบบนั้นจริงๆ หรือ?



รูปแสดงทฤษฎีการมองเห็นวัตถุ

ความจริง การมองเห็นเกิดจากแสงที่กระทบวัตถุแล้วสะท้อนเข้ามาในดวงตาจนเราเห็นภาพนั้นๆ อธิบายง่ายๆจากทฤษฎีองค์ประกอบของแสงและการมองเห็นสีของวัตถุของเซอร์ไอแซกนิวตันทำให้เรารู้ความจริงมานานแล้วว่า การมองเห็นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ มีแสงกระทบกับพื้นผิววัตถุและสะท้อนกลับเข้าดวงตา ทำให้เราเห็นเป็นสภาพและสีของวัตถุนั่นเอง



"ถ้าไม่มีแสงล่ะเราจะมองเห็นไหม ?"



คำตอบคือมองไม่เห็นแน่นอน (ล้านเปอร์เซนต์) ไม่ว่าวัตถุนั้นจะอยู่ใกล้ดวงตาของเราแค่ไหนเราก็ไม่สามารถมองเห็นวัตถุนั้นได้เลยถ้าไม่มีแสง

สรุปง่ายๆ ว่าองค์ประกอบสำคัญในการมองเห็นคือ แสง วัตถุ และดวงตา ถ้าแสงกระทบวัตถุมีน้อย ความสามารถในการมองเห็นก็จะน้อยลงตามไป หรือถ้าแสงที่สะท้อนออกจากวัตถุมีพอประมาณแต่มีตัวกลางที่ลดทอนปริมาณแสงก่อนเข้าถึงดวงตา ความสามารถในการมองเห็นก็จะลดน้อยลงไปตามปริมาณแสงที่เข้าสู่ดวงตา



ลองมาทดสอบการมองเห็นของผู้ขับขี่ที่ใช้ฟิล์มติดรถยนต์ดำเข้มกันนะครับ



รูปแสดงความเป็นจริงของคำว่า “ดำนอกสว่างใน” ในเวลากลางวัน

เนื่องจากแสงเป็นองค์ประกอบหลักในการมองเห็น เราจึงควรทำความรู้จักกับความสว่างของแสงเพื่อเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจ โดยปกติความสว่างจะวัดด้วยเครื่องมือที่ชื่อว่า Lux meter ซึ่งจะวัดค่าความสว่างออกมาในหน่วย Lux หรือเรียกอีกอย่างว่า Lumen/m2 (ลูเมน/ตารางเมตร) ผู้เขียนได้รวบรวมความสว่างของพื้นที่ต่างๆในสภาวะต่างๆมาให้เห็นภาพดังนี้

ตารางความสว่างของพื้นที่ต่างๆ ในสภาวะต่างๆ

สภาวะของพื้นที่ต่างๆ ค่าความสว่าง (Lux)
กลางวัน แสงอาทิตย์ตอนแดดจัด 60,000 - 110,000
แสงแดดอ่อน 10,000 - 20,000
วันเมฆครึ้ม 1,000 - 2,000
วันฝนตกท้องฟ้ามืด 100 - 500
เย็นพลบค่ำ 10 - 50
กลางคืน หัวค่ำ 1 - 2
คืนพระจันทร์เต็มดวง 0.1
ไม่มีพระจันทร์ 0.001
แสงสว่างไฟถนน 10 - 22
ในอาคาร ห้องอ่านหนังสือ และออฟฟิศ 500 - 1.500
ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องอาหาร 150 - 300
ทางเดินในอาคาร 75 - 200

จะเห็นได้ว่าในตอนกลางวันถึงแม้จะเป็นช่วงแสงแดดอ่อนๆก็ยังมีปริมาณมากกว่าตอนกลางคืนที่มีไฟส่องสว่างบนถนนได้มากถึง 1,000 เท่า (15,000/15) ถึงแม้ว่าจะมีฟิล์มติดรถยนต์ที่ดำสนิทเป็นตัวกลางขวางดวงตาของคุณก็ตาม คุณจะยังมองเห็นวัตถุทุกอย่างที่อยู่ภายนอกรถได้อย่างชัดเจนเพราะปริมาณแสงจากภายนอกที่ผ่านกระจกรถเข้ามาสู่ดวงตาของคุณมีปริมาณเพียงพอ ตัวอย่างเช่น ถ้าในช่วงกลางวันที่แสงแดดอ่อนค่าความสว่าง = 15,000 Lux สะท้อนกับวัตถุแล้วผ่านฟิล์มที่มีความเข้ม 85% แสงนั้นจะถูกลดทอนเหลือ 15% คงเหลือ = 15,000 x 0.15 = 2,250 Lux ซึ่งยังเป็นค่าที่สูงกว่าความสว่างของออฟฟิศในอาคาร จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่อยู่ในรถที่ติดฟิล์มดำเวลากลางวันแล้วรู้สึกว่า “สว่างใน” และคุณจะรู้สึก “สว่างใน” อย่างแน่นอนไม่ว่าคุณจะใช้ฟิล์มเซรามิก หรือฟิล์มยี่ห้อใดก็ตาม เพราะในขณะนั้นมีปริมาณแสงที่มากเหลือเฟือเดินทางเข้าสู่ดวงตาของคุณ


แต่ในตอนกลางคืนที่มีแสงสว่างปริมาณน้อยจะเป็นอย่างไร?


รูปแสดงความไม่เป็นจริงของคำว่า “ดำนอก”และ “สว่างใน” ในเวลากลางคืน

ในกรณีกลางคืนบนถนนที่มีไฟ ปริมาณแสงสว่างมีค่าเพียงแค่ 15 Lux (ลดลง 1,000 เท่าจากตอนกลางวันที่มีแสงแดดอ่อนๆ ดังกล่าวไว้แล้วข้างบน) เมื่อข้างนอกตัวรถมีแสงสว่างปริมาณน้อย ปริมาณแสงที่สะท้อนออกจากวัตถุก็จะน้อยไปด้วย และยิ่งปริมาณแสงจากวัตถุนี้ต้องเดินทางผ่านฟิล์มดำและถูกลดทอนไปอีก 85% เหลือเพียง 15 % นั่นคือปริมาณแสงสว่างจะคงเหลือ = 15 x 0.15 = 2.25 Lux ผ่านกระจกรถเข้าสู่ดวงตาของเรา ภาพที่ดวงตาของเรามองเห็นจึงเลือนลางและไม่ชัดเจน และถ้ายิ่งต้องขับรถไปในที่ที่ไม่มีไฟถนน แสงสว่างที่ช่วยให้เรามองเห็นจะยิ่งน้อยลงไปกว่านี้อีกมาก ทำให้ดวงตาของเราต้องเพ่งและพยายามขยายรูม่านตาให้ได้มากที่สุดเพื่อรับแสงเข้าดวงตาเพิ่มขึ้น ผู้ขับขี่จึงเกิดอาการเมื่อยล้า และรู้สึกไม่ปลอดภัย

ดังนั้น คำว่า “สว่างใน” หรือ “การมองจากในตัวรถแล้วรู้สึกสว่าง” จึงเป็นไปไม่ได้เลย ในกรณีที่แสงนอกตัวรถมีปริมาณน้อยในเวลากลางคืน



ด้วยเหตุผลแบบเดียวกันสำหรับเวลากลางคืน ถ้าบริเวณภายนอกรถมืดหรือมีแสงสว่างน้อย เมื่อเราเปิดไฟในห้องโดยสาร แสงสว่างในตัวรถจะมีมากกว่าแสงภายนอก การมองเห็นจากภายนอกเข้าไปภายในตัวรถย่อมเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนเพราะแสงสะท้อนจากวัตถุภายในรถมีปริมาณเพียงพอที่จะผ่านฟิล์มดำออกมาสู่ดวงตาของคนที่อยู่นอกตัวรถ ดังนั้นคำว่า “ดำนอก” หรือ “การมองจากภายนอกไปที่รถแล้วเห็นแต่ความดำมืด” จึงไม่เป็นจริง ในเงื่อนไขนี้

ยิ่งไปกว่านั้นการมองออกไปนอกรถที่ติดฟิล์มดำมืดในขณะที่ห้องโดยสารมีการเปิดไฟส่องสว่างในเวลากลางคืน จะยิ่งทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นแย่ลงไปอีก เนื่องจากคุณจะเห็นเงาของตัวเองหรือเงาของวัตถุภายในรถมากกว่าเห็นวัตถุจริงภายนอกรถ ที่เป็นเช่นนี้เพราะปริมาณแสงของวัตถุจากภายนอกที่ผ่านกระจกเข้าสู่ดวงตาของคุณมีปริมาณน้อยกว่าแสงสะท้อนของวัตถุภายในรถนั่นเอง คุณจึงเห็นเงาสะท้อนภายในห้องโดยสารได้ชัดเจนกว่ามองเห็นวัตถุภายนอกตัวรถ คำว่าอยู่ในรถแล้วมองเห็นวัตถุนอกรถอย่างชัดเจนจึงไม่เป็นจริง ดังนั้นคำว่า “สว่างใน” จึงไม่เป็นจริงในสถานะการณ์เช่นนี้

รูปแสดงความไม่เป็นจริงของคำว่า “สว่างใน” ในเวลากลางคืน




เนื่องจากผู้ขับขี่มีโอกาสพบเจอกับสภาพแสงที่มากในเวลากลางวันเท่าๆกับโอกาสที่จะเจอสภาพแสงน้อยในเวลากลางคืน หรือกลางวันที่ท้องฟ้ามืดครึ้ม หรือฝนตก หรือถอยจอดในที่ๆเป็นมุมมืด

ดังนั้น ความน่าจะเป็นที่ “ดำนอกสว่างใน” จะเป็นจริงก็มีเพียง 50% เท่านั้นและไม่ขึ้นกับชนิดของฟิล์มติดรถยนต์แต่ขึ้นกับปริมาณของแสงสว่างณ เวลาและสถานที่นั้น

ถึงตอนนี้ถ้าท่านเซอร์ไอแซค นิวตันยังอยู่ คงอยากบอกลูกหลานว่า คำว่า “ดำนอกสว่างใน” มันบ่...แม่น อย่าหลงเชื่อจนหมดใจเด้อ........



เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์อมร ตันวรรณรักษ์